Google Latitude : เมื่อโดนตามตูดทุกย่างก้าว

วันนี้มีของเล่นมานำเสนออีกแล้ว … ลั่น… ลัน.. ล๊า.. หลังจากหัวหมุนกับงานใหม่เล็กน้อย 🙂


คราวนี้ขอนำเสนอ Google Latitude … บริการเสริมเล็กๆบน Google Maps ที่ทำให้เราไม่พลาดทุกความเคลื่อนไหวของเพื่อน … หึหึ ไปขายแอมเวย์ดีกว่ามั๊ยตู


Google Latitude จะทำการแสดงตำแหน่งล่าสุดของเพื่อนให้เราได้รับรู้ และในทางกลับกันก็เปิดเผยตำแหน่งของเราให้เพื่อนเห็นด้วยเช่นกัน (ออกแนวยื่นหมูยื่นแมว) แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เพื่อนคนไหนจะเห็นที่อยู่ของเราได้บ้างนั้น จะต้องทำการขออนุญาติเป็นกรณีพิเศษ … นั่นหมายความว่าคุณจะต้องอนุญาติเป็นรายบุคคลเท่านั้น ไม่ว่าเพื่อนคนนั้นจะคุย GTalk กันทุกวันหรือ Mail หากันทุกคืนก็ตามที

Latitude บนเว็บ

 

โดยทั่วไปแล้ว การใช้งาน Latitude นั้นจะใช้งานบนมือถือเป็นหลัก โดยจะแสดงผลเป็น Layer หนึ่งใน Google Maps (เหมือนๆกับแสดง Traffic) .. ส่วนใหญ่ก็เอาไว้ดูว่าเพื่อนๆอยู่ที่ไหนกันบ้าง ?

Latitude บน Android

 

Google Latitude ต่างกับ Foursquare ตรงไหน ?

ถึงแม้ว่าจะเป็นการแชร์ตำแหน่งเหมือนกันก็จริง แต่ Foursquare นั้น จะเป็นการตั้งใจ Checkin (คือการป่าวประกาศ ว่ากรูอยู่ที่นี่) บอกเพื่อนๆว่าเราไปที่นู่นที่นี่ ดีไม่ดียังไง อาหารอะไรอร่อย ? ส่วน Latitude นั้นจะออกแนว ตอนนี้มึงอยู่ไหนวะ ? เพราะว่าใน Latitude นั้น หลังจากคุณอนุญาติให้เพื่อนเห็นตำแหน่งคุณได้แล้ว คุณไม่ต้องทำอะไรอีกเลย Latitude จะคอยอัพเดทตำแหน่งของคุณและของเพื่อนอย่างสม่ำเสมอ (โดยคุณต้องเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตด้วยนะ)  เพราะฉะนั้นแล้วการจะอนุญาติให้ใครเห็นตำแหน่งปัจจุบันของคุณ ต้องคิดให้ดีๆ 😉

ส่วนบริการของ Google ที่ใช้งานเหมือนกับ Foursquare นั้น เป็นบริการเพิ่มเติมจาก Latitude ชื่อ Check-ins เหมือนๆกับของ Facebook ในชื่อ Facebook Place

 

เราจะกำหนด Permissionได้อย่างไร ?

เมื่อเพื่อนส่งคำขออนุญาติเพื่อรู้ที่อยู่ของคุณ สิ่งที่คุณทำได้ก็คือ อนุญาติ หรือ ไม่อนุญาติ (จะบอกทำไม -*-) แต่เมื่อเราอนุญาติแล้ว ยังมีสิ่งที่ต้องรู้อีกเล็กน้อย คือ เราสามารถตั้งระดับความละเอียดของตำแหน่งของเราได้ ยกตัวอย่างเช่น .. นายเอ ส่ง Request มาขอเรา เราก็อนุญาติและ Share กลับ แต่อนุญาติให้นายเอ รู้ตำแหน่งของเราในระดับ “เมือง” เท่านั้น จะช่วยให้เราปลอดภัยจากการตามล่าตัวของนายเอมากขึ้น วะฮ่าๆๆ

การตั้งค่าตรงนี้มีให้เลือก 3 อัน โดยเราจะสามารถเลือกแต่ละแบบได้อิสระสำหรับเพื่อนแต่ละคน

  • Share best available location – ตรงตามตัว แสดงตำแหน่งที่ดีที่สุด ถ้าคุณต่อเน็ตและเปิด GPS ไว้ละก็ จะได้เห็นความละเอียดของมันก็คราวนี้ล่ะ
  • Share only city level location – อันนี้ก็คือข้อที่พูดถึงด้านบน เห็นระดับเมือง ปลอดภัยดี (หรอ?)
  • Hide location from this friend – แปลตามตัวเหมือนกัน “มึงอย่ามายุ่งกับกู”

 

แต่ เดี๋ยวก่อน …  เรายังมีทีเด็ดอีกอันนึง … นอกจาก การตั้งค่ารายคนข้างบน เรายังตั้งค่าความเป็นส่วนตัวรวมของ Latitude ได้ด้วย โดยมีให้เลือกตามนี้ (เข้าจาก Setting ใน Latitude App)

  • Detect your location – Your location is updated automatically
  • Set your location – Manually select a location on the map
  • Hide your location – Friends can not see your location

เห็นอันที่ 2 มั๊ยครับ ?? … นั่นแหล่ะ ทำให้ความน่าเชื่อถือของ Latitude หายไปเยอะเลย แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่หลายๆคนกำลังมองหา ใช่มั๊ย ? 😉

Privacy Settings ของ Latitude (Android)

มีอะไรอีก ?

Feature นี้เปิดไปเจอมาโดยบังเอิญ …  ลองเงยขึ้นไปดูรูปด้านบน.. เห็นเครื่องหมายถูกมั๊ยครับ … นั่นแหล่ะ พระเอกของเรา Location History … หึหึ

Location History

จริงๆโดยส่วนตัวรู้สึกว่าไม่ปลอดภัยที่จะเปิดใช้ฟีเจอร์อันนี้อย่างจริงจัง แต่ไหนๆก็ไหนๆ ขอลองเปิดดูซักเดือน ว่ามันทำอะไรได้บ้าง ?

หลังจาก Enable ไปซักสองสามอาทิตย์ เราก็กลับมาดูในเว็บละติจูดบนคอมของเรา …

หน้า History ของ Laitude

จากรูป จะเห็นได้ว่า Feature History นั้น ทำอะไรมากกว่าแค่เก็บๆ History ไว้ … สิ่งที่มันทำก็คือ เอาแต่ละตำแหน่งมาคำนวณให้คุณด้วย ว่าคุณใช้เวลาทั้งหมดอยู่ที่ไหนบ้าง ? อยู่ที่บ้านกี่ชม. อยู่ที่ทำงานกี่ชม. ออกข้างนอกอีกเท่าไหร่ ? ที่น่าทึ่งคือ เราไม่เคยต้องบอกมันว่าบ้านเราอยู่ที่ไหน ? ที่ทำงานเราอยู่ไหน ? มันคิดเองได้ -*- และสามารถบอกสถานที่ที่เราไปบ่อยๆ ได้ด้วย

กราฟการใช้เวลาไปกับที่ต่างๆของเรา

และที่เด็ดกว่านั้น … คืออันนี้ครับเมนู View and Manage เป็นการเอาตำแหน่งของเรามาพล็อตตามเวลา อธิบายลำบาก ลองดูวิดีโออันนี้ละกัน 😉

Google Latitude – History View from ZiiT on Vimeo.

สุดท้ายก็ต้องบอกว่า นับวันบริการดีๆใหม่ๆเกิดขึ้นทุกวัน แต่ละอันก็มีข้อดีข้อเสียต่างกันไป ความเป็นส่วนตัว ความสะดวกสบาย … หลายๆอย่างต้องค่อยๆอ่าน ค่อยๆเรียนรู้ครับ มันต้องมีซักอันที่เหมาะกับเรา เนอะ 😉

 

Scroll to top