ครบรอบหนึ่งปี กับการติด Solar cell เลยมาแชร์ผลการดำเนินงาน
รายละเอียดการติดตั้ง
- ขนาด 4.64 kW บนไฟ 1 Phase ติดตั้งแบบ on-grid
- ระบบ Micro Inverter ของ Enphase
- แผงโซล่าเซลล์ JINKO 580 watts จำนวน 8 แผง
- ติดตั้งบนหลังคาบ้านด้านเดียว หันหน้าไปทางทิศใต้
- ไม่มีแบตเตอรี่เก็บไฟ
- บริษัทที่ติดตั้งทำเรื่องขายไฟคืนการไฟฟ้าฯให้
ข้อควรรู้ก่อนการติด Solar cell
(ที่บางอันเราก็มารู้ทีหลัง)
- ถ้าติดแบบ on-grid และไม่มีแบตเตอรี่ ถ้าไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฯดับ ไฟบ้านเราก็จะดับเช่นกัน (ห๊ะ!)
- ขายไฟคืนการไฟฟ้าจะเป็นแบบ fixed price (2.2 THB/kW) ในขณะที่เราซื้อประมาณ 5 บาทต่อหน่วย
- การมีรางน้ำฝน ไม่ได้ทำให้ติดตั้งยากขึ้นแต่อย่างใด
- หลังคาทิศใต้เป็นทิศที่ดีที่สุดในการติดตั้ง
- การติดตั้งต้องการสายดิน (groud) แยกจากสายดินปกติของบ้านอีกจุดนึง
- ตู้ที่เก็บ Controller ของระบบ ต้องมีการเชื่อมต่อ Internet ถ้าเป็นไปได้ควรจะใช้สายแลนมากกว่า Wi-Fi
- การติดตั้งไม่ได้ทำให้รู้สึกว่าบ้านร้อนขึ้น หรือเย็นลงแต่อย่างใด
- Technology แผงโซล่าเซลล์ ดีขึ้นเรือยๆ แปลว่าสามารถผลิตไฟได้เยอะขึ้นในขนาดเท่าเดิม ล่าสุด (Jan 2025) เหมือนจะมีอันที่ผลิตได้ 700 w ต่อแผงแล้ว
- ถ้าจะติดแบบไม่มีแบตเตอรี่ ควรต้องมีการใช้งานกลางวันเยอะๆ ถ้าจะให้ดีคือใช้ให้หมดทุกวัตต์ที่ผลิตได้จะดีที่สุด
- มี Solar cell อีกระบบที่เกิดก่อน มีข้อเสียมากกว่าแต่ราคาถูกกว่ามากเช่นกัน คือระบบ Sting Inverter เป็นอีกทางเลือกที่คืนทุนเร็ว
- ตอนติดตั้งนั้นสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ด้วย (จากโครงการ e-receipt) ทำให้จุดคุ้มทุนเข้ามาใกล้กว่าเดิมอีกนิดนึง
การขายไฟคืนการไฟฟ้าฯ
- การขายไฟคืนการไฟฟ้าฯ มีโควตาต่อครั้งของการประกาศ ถ้าเต็มแล้วต้องรอเข้าครม.ประกาศใหม่ และการทำเรื่องใช้เวลานานมากกกก (ประมาณ 4-5 เดือน ถึงจะมาเปลี่ยนมิเตอร์ และเพิ่มอีก 1-2 เดือนสำหรับเคลียร์เรื่อง billing)
- สัญญาการขายไฟมีอายุ 10 ปี
- เงินค่าขายไฟคืนการไฟฟ้าฯ ต้องเสียภาษีเงินได้ด้วย โดยการไฟฟ้าฯหัก ณ ที่จ่าย 1%
- การขายไฟคืนการไฟฟ้าฯ จะหักกลบกันในการไฟฟ้าเอง คือ ในแต่ละเดือนการไฟฟ้าจะเอายอดเงิน (ไม่ใช่ unit) ที่เราจะได้รับ(หลังหักภาษี)ไปหักลบกลบหนี้กับค่าไฟที่เราต้องจ่าย
- สัญญาขายไฟระบุราคาที่รับซื้อ และไม่ยอมให้เพิ่มกำลังการผลิต
Enphase
- Official support battery ตอนนี้มีแค่ของ Enphase เอง กับ Powerwall ของ Tesla ซึ่งทั้งคู่ก็แพงมากมายมหาศาลลล (เติม ล.ลิงไปอีก 85 ตัว)
- ตัวระบบของ Enphase สามารถควบคุมได้จากส่วนกลาง การแก้ไขค่าใดๆของระบบต้องติดต่อเจ้าหน้าที่ที่ดูแลเรา (เช่น การเปิด/ปิด ระบบกันย้อน เพื่อทำการขายไฟ)
- Enphase มีเว็บ + App ให้เราเข้าไปดูการผลิตไฟและการใช้ไฟของเราได้ สะดวกดี
- Enphase controller สามารถเชื่อมต่อกับ Home Assistant ได้ เราสามารถเอาการผลิตมาเทียบกับการใช้งานได้สะดวกขึ้น หรือคำนวณค่าไฟแต่ละเดือนได้ค่อนข้าง realtime
ก่อนติดตั้ง
- หลังจากติดต่อพูดคุยกับ provider เสร็จ ก็มีจนท.มีสำรวจหน้างาน คำนวนเสร็จสรรพ มีการเสนอ Quotation พร้อม แบบจำลองการคุ้มทุนตามด้านล่าง
- ดูเรื่องประกันแต่ละส่วน ว่ามีอายุเท่าไหร่ รับประกันโดยใคร
- ดูเรื่องบริษัท จากที่กล่าวข้างต้นว่าการดูแลระบบ (โดยเฉพาะของ Enphase) ยังต้องดูแลโดย vendor เพราะงั้นแล้วบ.ไม่ควรตายจากไปง่ายๆ
- มีเรื่องการล้างแผงด้วย ว่าเป็นยังไง ที่ติดมีการล้างแผงให้ 10 ครั้ง ปีละ 2 ครั้ง
หนึ่งปีหลังติดตั้ง
หลังติดตั้งไปหนึ่งปี มาดูผลการดำเนินงานกัน จะพยายามลองสรุปดู
การคืนทุน
- วิธีคิดจุดคุ้มทุนคือ เอาหน่วยที่ใช้งานจริงทั้งหมด ไปหาค่าไฟที่ควรจะเป็น แล้วเอามาลบด้วยค่าไฟที่จ่ายจริง
- จากการจดบันทึก ถ้าคิดรวมการลดหย่อนภาษีไปด้วยแล้ว น่าจะคืนทุนอยู่ที่ 60++ เดือน หรือประมาณห้าปีกว่า (as of now คือ 62 เดือน ไปจบที่แถวๆปี 2029) ถ้าเทียบว่าอายุการใช้งานแผงอยู่ที่ 30 ปี ก็ถือว่าหลังจากนั้นคือกำไร
- ถ้าไม่รวมลดหย่อนภาษี น่าจะมีปีที่ 70++ เดือน ถึงจะคืนทุน
- ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการใช้งานกลางวันมากหรือน้อยด้วย ถ้าใช้ไฟที่ผลิตได้จนหมด น่าจะคืนทุนเร็วขึ้น
- การใช้งานยังใช้งานแบบปกติคือไม่ได้เปิดทิ้งเปิดขว้าง อย่างเดือนธ.ค. อากาศดีก็เปิดหน้าต่างทำงาน ก็คืนทุนช้าไปอีก
- ยังไม่มีรถไฟฟ้า ถ้ามีแล้วชาร์จกลางวันได้ น่าจะคืนทุนเร็วขึ้นอีก
- แต่ละฤดูจะเห็นชัดว่าผลิตได้แตกต่างกัน เรียงตามลำดับคือ ฤดูหนาว มีแนวโน้นจะได้ 600 kWh หรือมากกว่า และไปสูดสุดที่ฤดูร้อน ที่ได้ 715 kWh, ส่วนฤดูฝนก็น้อยตามระเบียบ ลงไปต่ำสุดทีเกือบๆ 450
- กลางวันเปิดแอร์อย่างน้อยสองตัว ห้องนั่งเล่น หรือ ห้องนอนกลางวันลูก + ห้องทำงาน อาจจะเพิ่มห้องนอนอีก ถ้าแม่ทำงานที่บ้าน
- จากกราฟด้านล่างสีม่วงๆ จะเห็นว่าในแต่ละวัน ยังมีการ export (ขาย) ไฟให้การไฟฟ้าฯอยู่ เลยทำให้มูลค่าลดลง เพราะเราซื้อแพงและขายถูก ถ้าประเทศเปลี่ยนเป็นระบบ Net metering (หักลบหน่วย) แทนระบบ Net billing น่าจะทำให้เราคืนทุนเร็วกว่านี้ (เยอะมาก)
- โจทย์ปี 2025 คือทำยังไงจะใช้ไฟที่ผลิตมาตอนกลางวันได้หมด! หรือ หา battery ที่ราคาไม่แรงมาก
จบ.
Ref