มัลดีฟส์ 2022

การเดินทางครั้งนี้เป็นครั้งแรกตั้งแต่โควิดระบาด เลยทำให้รู้ว่าการออกเดินทางนั้นน่าสนุกตื่นเต้นขนาดไหน (แถมเพิ่มความตื่นเต้นจากโควิดไปอีก)

เริ่มตั้งแต่สนามบินดอนเมือง ที่เจอว่าวันที่เราเดินทางนั้น มีเที่ยวบินขาออก(ต่างประเทศ) เพียงไม่กี่เที่ยวบิน ยังไม่นับว่าเคาเตอร์เช็คอินนั้นเปิดอยู่เพียงแถวเดียว มองผ่านๆแทบจะเหมือนว่าสนามบินไม่ได้เปิดให้บริการด้วยซ้ำ ! … ยิ่งเมื่อจนท.บอกว่าร้านอาหารข้างในปิดหมดเลยยิ่งแล้วใหญ่ แต่ในความเงียบเหงา ก็เหมือนจะมีข้อดีอยู่บ้าง คือการที่เราสามารถผ่านขั้นตอนการตรวจคนเข้าเมือง(ขาออก)และจุดตรวจความปลอดภัยได้ภายในสิบนาที มันก็รู้สึกดีเหมือนกันนะ

สนามบินที่ดูเหมือนไม่ได้เปิดให้บริการ
จอแสดงเที่ยวบินขาออกสองจอ

ทริปมัลดีฟส์ครั้งแรกของเรานั้นมีทั้งสองแบบคือ ช่วงแรกเราไปเกาะที่เป็นรีสอร์ท (private resort island) พักที่พักกลางน้ำ บริการอย่างดี ในขณะที่ช่วงหลังเราเลือกที่จะกลับเข้าไปพักในเมืองเพื่อจะได้รู้จักว่าคนท้องถิ่นจริงๆเค้าอยู่เค้ากินกันแบบไหน

Private Resort Island

เราพักกันที่ Cocoon Maldives ที่อยู่ทางเหนือของเมืองมาเล่ (Male’) เมืองหลวงของมัลดีฟส์ โดยหลังจากลงเครื่องที่มัลดีฟส์แล้ว ต้องต่อเครื่อง Seaplane ไปอีก 30-40 นาที ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีที่ได้ลองนั่งเครื่องบินน้ำแบบนี้ (ถึงแม้ว่าภายในจะคล้ายๆรถตู้บ้านเราก็ตามที)

การจองที่พักแบบนี้ผ่าน agoda จะต้องอ่านให้ดีๆ เพราะตอนเลือกค่าห้องจะมีบอกว่าค่าห้องที่เห็นนั้นยังไม่รวมค่า seaplane ที่จะคิดตังหาก เพราะงั้นต้องดูให้ดีๆตอนจองว่าราคาค่าห้องรวมอะไรบ้าง อะไรบ้างที่จะคิดเพิ่ม แบบเดียวกับการจองโรงแรมสำหรับ test&go ค่าห้องอาจจะพันสองพันบาท แต่พอไปถึงจุดที่จะชำระเงิน ก็จะมีค่า RT-PCR คิดเพิ่มต่างหากมา ทำให้เห็นราคาที่แท้จริง จุดนี้ต้องอ่านรายละเอียดดีๆจะได้ไม่มีอะไรผิดไปจากความคาดหวัง

หลังจากลงเครื่องที่มาเล่ ก็จะมีตัวแทนที่พักมารอรับ (เลยทำให้ไม่ได้ใช้สกิล explorer ใดๆ) แล้วพาไปซื้อ simcard ที่ซุ้มใกล้ๆ

เรื่อง simcard / internet ที่มัลดีฟส์นี่ก็ควรค่าแก่การพูดถึง คือมัลดีฟส์นั้นไม่รวมอยู่ในแพคเกจ sim2fly / ready2fly หรือโปรโมชันลักษณะเดียวกันจากค่ายอื่นๆในไทย ทางออกคือต้องมาซื้อ simcard ที่มัลดีฟส์เท่านั้น โดยมีสองค่ายที่ราคาเดียวกัน (ที่จนท.บอกว่าเหมือนๆกัน) คือ 35$ (USD) สำหรับอินเตอร์เน็ต 17 GB และใช้งานได้ 30 วัน อีกราคาจะเป็น 50$ ที่ใช้งานได้ 100 GB
ส่วนตัวได้ซิมของเครื่อข่าย Ooredoo มา แบบ 17GB เจอว่าไม่ต้องมีการ register หรือ activate simcard ใดๆ เปลี่ยนซิมแล้วก็ใช้งานได้ทันที โดยมารู้ตอนหลังว่า package นี้รวมการโทรออกและ SMS ด้วย ส่วนเรื่องความเร็วอินเตอร์เน็ตนั้น ต้องบอกเลยว่าบ้านเราเร็วกว่าเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายมือถือหรือ Wi-Fi

เคาเตอร์ขายซิมการ์ด
Flight schedule ของ seaplane

หลังจากได้ซิมการ์ดแล้วจนท.ก็พาเราไปเช็คอิน seaplane ของสายการบิน TMA (Trans Maldives Airline) ที่เคลมว่าตัวเองเป็นสายการบิน seaplane ที่ใหญ่ที่สุดในโลก (ก็แน่ล่ะ มันมีไม่กี่ประเทศที่มีเกาะแก่งกระจายกันอยู่ทั่วแบบนี้) ตอนเช็คอิน seaplane นั้น เค้าจะให้เ้ราชั่งน้ำหนักกระเป๋าทุกใบ (รวมถึงกระเป๋าที่ถือขึ้นเครื่องด้วย) พอเช็คอินอะไรเรียบร้อย ก็จะต้องไปขึ้นรถมินิบัส จากสนามบินหลักไปยังอาคารของสนามบิน seaplan โดยทางสายการบินจะเอากระเป๋าใบใหญ่ไปให้ (ไม่ค่อยอยากเรียกว่าโหลดกระเป๋า เพราะจริงๆแล้วเดี๋ยวมันไปกองๆอยู่หลังที่นั่งเราแหล่ะ คล้ายๆกับรถทัวร์สมัยก่อนเลย)

บรรยายลักษณะของ seaplane หน่อยนึง คือน้องซีเพลนเนี่ย จะขับเคลื่อนด้วยใบพัดเหมือนเครื่องบินใบพัด ที่แตกต่างคือมันไม่มีล้อ แต่ลอยเป็นเหมือนเรือแทน เพราะงั้นตอนอยู่บนน้ำก็จะใช้ใบพัดในการเคลื่อนที่ มันก็จะหนืดมาก วิ่งไม่ค่อยไปแล้วก็เหม็นน้ำมันระดับนึง แต่พอลอยขึ้นไปได้ก็จะชิลขึ้น เริ่มเปิดแอร์ได้ เครื่องเบาลง ลองดูในคลิปได้

สนามบิน seaplane
ภาพเมือง Hulhumale จาก seaplane

เท่าที่เข้าใจ seaplane จะใช้เดินทางไปเกาะที่ไกลระดับนึง เกาะใกล้ๆจะเป็น speedboat / เรือไม้ (ที่ตอนนี้งดเดินทางหลายเส้นเลยเนื่องจากโควิด) แล้วถ้าไกลมากๆ ก็ต้องบิน domistic flight ไปก่อน โดย flight ของ seaplane จะบินไปทีละ Atoll – Atoll คือกลุ่มของเกาะที่เรียงตัวกันเป็นวงกลม คล้ายๆปล่องภูเขาไฟ แต่ละเกาะก็จะแยกจากกัน นั่งเรือไปมาหาสู่กันได้ในระยะ 15-20 นาที – Atoll ที่รีสอร์ตของเราตั้งอยู่ชื่อ `Lhaviyani Atoll` ซึ่งอยู่ทางเหนือของเกาะมาเล่

วงๆที่เห็นคือ Atoll ที่มีเกาะเรียงตัวกัน
ภายใน seaplane จะคล้ายๆกับรถตู้เลย

ก่อนจะไปต่อขอเล่าเรื่องเวลาก่อน ประเทศมัลดีฟส์นั้นเวลาช้ากว่าประเทศไทย 2 ชั่วโมง (มัลดีฟส์ GMT +5 vs ไทย GMT +7) แต่มันมีความซับซ้อนกว่านั้น ก็คือเกาะที่เราพักนั้นมีเวลาเป็นของตัวเอง คือปรับเวลาให้เร็วขึ้นว่าเวลาที่มาเล่อีกหนึ่งชั่วโมง ซึ่งการปรับเวลาของเกาะนี้ไม่ได้มีการรองรับจากเครือข่ายมือถือใดๆ เพราะงั้นเราต้องดูเวลาจากนาฬิกาของเกาะเองเท่านั้น เพื่อจะได้รู้ว่าถึงเวลาอาหารแล้วหรือยัง !

หลังจากมาถึงเกาะ ก็พบว่าที่เกาะนั้นไม่มีใครใส่มาส์กกันแล้ว คนที่ใส่ส่วนใหญ่คือคนที่เพิ่งลงเครื่องมานั่นแหล่ะ เราจะได้รับการ assign host มาให้หนึ่งคนเพื่อดูแลเราตลอดช่วงที่เราอยู่ ทั้งพาทัวร์รอบเกาะแบบเร็วๆว่าอะไรอยู่ตรงไหน พาไปส่งที่ห้อง รวมถึงการจองกิจกรรมต่างๆบนเกาะ เช่น ไป snorkeling / ไปดูโลมา การติดต่อกับโฮสคือใช้ WhatsApp ก็สะดวกดี บนเกาะมี Wi-Fi ให้แบบไม่ต้องใช้รหัสใดๆ (แน่แหล่ะ คุณจะขึ้นมาบนเกาะโดยไม่ได้มาพักไม่ได้อยู่แล้วปะ) อีกอันที่ถูกใจคือโฮสเราให้เบิกหน้ากาก snorkel และ fin ดำน้ำมาไว้เลย ทำให้มันง่ายมากที่เราจะกระโดดน้ำหลังห้องลงไปดูปลาได้เลย (คือถ้าพัก over water villa แล้วคุณควรต้องทำแบบนี้แหล่ะ)

ที่เกาะไม่มีอะไรมาก ตื่นเช้า กิน เดินเล่น ดื่มอะไรเย็นๆ ดำน้ำ กิน ดื่มอะไรเย็นๆ ดำน้ำ กิน นอน ด้ำน้ำ ตื่น … วนไป … สิ่งที่มัลดีฟส์มีดีกว่าประเทศไทยน่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล แต่ดำน้ำหลังบ้าน (ที่น้ำสูงกว่าเอวหน่อยนึง) คุณสามารถเจอปลาวัว ปลาปั๊กเป้าที่ตัวใหญ่มาก ปลากระเบน ปลาหมึก ปลาฉลาม … มันดีมากๆเลย ในเมืองไทยคุณอาจจะเจอได้ตามจุดดำน้ำต่างๆ แต่การเจอในทะเลหลังบ้านมันเป็นอะไรที่ดีงามมากๆ ซักครั้งในชีวิตควรจะมาลอง over water villa ที่ Maldives … ถ้าเป็นไปได้แนะนำให้ไปรีสอร์ทที่ไม่ใหญ่มาก ไม่วุ่นวาย ดื่มด่ำกับธรรมชาติ (และ all inclusive menu !)

Malé / Hulhumalé

หลังจากอยู่ที่เกาะสามสี่วัน (ที่รู้สึกว่ายังน้อยไป) ก็ได้เวลากลับมาในเมือง กลับมาสู่ฐานะดั้งเดิม เราจองที่พักไว้ที่ Hulhumalé (อ่านว่า ฮูลูมาเล่) เป็นเมืองที่เพิ่งสร้างใหม่ อยู่คนละฝั่งกับ Male’ ที่เป็นเมืองหลวงเดิม (เรามีไปพักคืนสุดท้ายที่มาเล่) เราพักโรงแรมติดชายหาด (แบบมีถนนคั่น) ให้ความรู้สึกคล้ายๆบางแสนหรือชะอำ

สิ่งหนึ่งที่ต้องเล่าคือ ประเทศมัลดีฟส์เป็นประเทศมุสลิม (แบบเดียวกับอินโดนีเซีย) บนเกาะหลักที่ไม่ใช่ private resort island จะมีกฎหมายหลายอย่างที่ต้องทำตาม เช่น การแต่งตัวในที่สาธารณะ ห้ามใส่บิกินี่เล่นน้ำ ต้องเป็นเสื้อยืดกางเกงขาสั้น อีกอย่างคือห้ามขายแอลกอฮอล์ นี่อาจจะเป็นสาเหตุว่าเมนูเครื่องดื่มในแต่ละร้านจะมีเยอะมาก (เดาเอาว่ามาทดแทนตรงนี้) ที่เค้าฮิตๆกันคือมิลเชค (milkshake) หรือว่าพวก mocktail ก็มีเยอะมาก แถมขนมหวานพวกช็อคโกแลตก็มีเยอะ แถมอร่อยด้วย การกลับมาจากเกาะที่เป็นรีสอร์ทนั้นก็ต้องปรับตัวระดับนึงเลยเหมือนกัน นอกจากนี้คืออาหารก็จะไม่มีเมนูหมู (ซึ่งก็ทำให้พบว่า ไส้กรอกไก่นั้นก็อร่อยอยู่เหมือนกัน) และสัตว์เลี้ยงในเมืองนั้นก็จะมีแต่แมวเท่านั้น !

เนื่องจากเป็นประเทศเล็กมาก ก็จะเจอว่ารถบนเกาะเค้านั้นจะเล็กๆน่ารักๆ ถึงแม้จะไม่เห็นรถติด แต่ก็เจอว่าที่จอดรถยนต์หายากเหมือนกัน

ภาพเมืองฮูลูมาเล่จากด้านบน บล็อกๆที่เห็นนั้่นเป็นเหมือนอพาร์ทเม้น
พนักงานกำลังเตรียมอาหารเช้า ตอนหกโมงเย็น (มื้อแรกหลังพระอาทิตย์ตก)

นอกจากนี้เรายังเจอว่าช่วงที่เรามานั้นเป็นช่วงการถือศีลอดพอดี (Ramadan) ทำให้ร้านอาหารส่วนใหญ่ปิดให้บริการในตอนกลางวัน (อาจจะมีบ้างที่เปิดแบบ takeaway/delivery ในช่วงบ่ายสามบ่ายสี่) เพราะชาวมุสลิมจะทานอาหารได้หลังจากพระอาทิตย์ตกแล้วเท่านั้น ร้านเลยปรับตัวตามกัน (แต่ก็ไม่ปรับเวลาใน Google Maps นะ) โดยร้านส่วนใหญ่จะมีบุฟเฟต์ช่วงมื้อเย็น (ที่เค้าเรียกว่า breakfast) สำหรับมื้อแรกของเค้า เกือบทุกร้านมีสิ่งนี้ ได้คุยกับเจ้าของร้านแห่งนึง เค้าบอกว่าการกินอาหารต่อหน้าผู้ถือศีลอด เค้าจะถือว่า disrespected, นี่อาจจะเป็นสาเหตุว่าร้านเลือกที่จะปิดไปเลยมากกว่า เราจะพบว่าหลังหกโมงเย็นนั้นเมืองจะคึกคักมาก ทุกคนออกมาสังสรรค์(แบบไม่มีแอลกอฮอล์) กินบุฟเฟต์ กินขนม แวะร้านกาแฟ ร้านรวงต่างๆก็จะปิดดึกมาก ส่วนใหญ่จะหลังเที่ยงคืน

กลางวันเลยต้องพึ่งพาร้านอาหารโรงแรมต่างๆซะเป็นส่วนใหญ่ ที่ยังเปิดให้บริการนักท่องเที่ยวอยู่

อาหารเช้าแบบมัลดีฟส์ ถ้วยบนซ้ายเหมือนะเป็นมะพร้าวกับปลารสชาติออกเปรี้ยวๆ
ร้านอาหารกรีก ที่เชฟเป็นชาวศรีลังกาที่ย้ายมาจากไซปรัส

หลังจากที่ได้พูดคุยกับเจ้าของร้าน พนักงาน ทั้งที่ในเมืองและรีสอร์ท ก็พบว่าคนที่มาอยู่มัลดีฟส์มาจากหลากหลายประเทศมาก แต่ที่เยอะจนเห็นได้ชัดคือคนจากอินเดียและศรีลังกา อาจจะเป็นเพราะอยู่ใกล้ กลับไปหาครอบครัวได้ และรู้มาว่าการมาทำงานมัลดีฟส์นั้นง่ายมากสำหรับเค้า คือสมัครผ่านเว็บไซต์สัมภาษณ์แล้วมาทำงานได้เลย โดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายล่วงหน้าใดๆ พนักงานที่รีสอร์ทบอกว่าเค้าได้วันหยุดกันปีละ 30 วัน หยุดทีก็กลับบ้านได้เลย พนักงานรีสอร์ทเองก็ต้องเข้าออกรีสอร์ทด้วย seaplane เหมือนกันนะ !

อีกอย่างที่ชอบในเมืองของที่นี่คือ ทุกอย่างใช้บัตรเครดิตได้หมดเลย มีแค่ร้านขายของชำเล็กๆเท่านั้น ที่ไม่กล้าจ่ายด้วยบัตรเครดิต เคยลองจ่ายด้วยเงินสดที่เป็น USD แล้วก็พบว่าเค้าทอนเป็น USD เหมือนจะขาดทุนยังไงชอบกล … จนสุดท้ายเลยไปแลกเงิน MVR (Maldivian Rufiyaa) มา 100 USD (ได้เรท 1 USD = 16.9 MVR) แต่เอาจริงๆก็แทบไม่ค่อยได้ใช้เลย

ผลไม้ที่ขายตามร้านขายของชำ วางนอกร้านริมถนน ส่วนใหญ่นำเข้าจากอินเดีย
ผลไม้ใน supermarket ที่มีอยู่ไม่กี่ที่ในเมือง

มีเรื่องเพิ่มเติมที่น่าจะเล่าก็คือ ตอนที่เดินทางจากสนามบินไปที่พักในฮูลูมาเล่นั้น ขนาดว่าเจ้าหน้าที่ของรีสอร์ทมาช่วยเรียกรถแท็กซี่ให้แล้ว ก็ยังเจอว่าคนขับรถยังพยายามจะเอาเงินเพิ่มอยู่ดี (คิดว่าคล้ายๆกับบ้านเราที่พยายามจะ take advantage จากนักท่องเที่ยว) ตอนหลังเราเลยลองลงแอพเรียกรถ AVAS Ride ที่มีบน iOS ใช้เบอร์โทรศัพท์ท้องถิ่นที่เราซื้อมาเล่นเน็ตลงทะเบียน ก็ใช้ได้เลย สุดท้ายได้ใช้ตอนย้ายโรงแรม สะดวกดี คล้ายๆ grab บ้านเรา แต่ยังจ่ายเงินสดได้อย่างเดียว (อย่างน้อยก็รู้ราคาโดยประมาณ) สิ่งที่แปลกคือคนขับไม่ได้ดูว่าเราจะเดินทางไปไหน ขึ้นมาบนรถแล้วก็ถามอีกที ถ้าใครไปแล้วลองดาวโหลดมาใช้กันได้ (iOS, Android)

โรงแรมติดถนนเรียบหาดใน Hulhumale มีลักษณะเป็นอาคารเตี้ยๆ
ที่พักชาวบ้านในฮูลูมาเล่ คล้ายหอพักบ้านเรา

จากการเดินเข้าๆออกๆร้านขายของ / supermarket และเดินตามถนน … ก็พบว่าที่นี่ใช้สินค้าจากบ้านเราเยอะเหมือนกัน เช่นยาสระผมซันซิลค์ ก็เป็นของไทยแบบภาษาไทยเลย (คล้ายๆกับที่เจอที่เวียดนาม) พวกท่อน้ำ PVC ใหญ่ๆก็เห็นภาษาไทยทั้งนั้นเลย ยังไม่นับว่ามีร้านอาหารเครือ Minor มาเปิดเยอะเหมือนกัน ตั้งแต่สนามบินเลย เห็นได้ตั้งแต่ The Pizze Company, Dairy Queen, Burger Kings เห็น Secret Recipes ในเมืองด้วย ยังไม่นับว่ามีเครือโรงแรมต่างๆที่มาเปิดรีสอร์ทที่นี่หลายอันเลย

เช้าวันกลับ ได้คุยกับคนขับรถของโรงแรม (Smann Grand) ในขณะที่กำลังเดินทางไปสนามบิน จากคำบอกเล่า สิ่งทีเกิดขึ้นในขณะนี้คือการทีจีนได้มาลงทุนในมัลดีฟส์ (เช่น การสร้างสะพานเชื่อมระหว่างเมืองมาเล่และสนามบิน) แลกกับสิทธิ์ในการพัฒนาในเขตของ Hulhumale’ เฟส 2 น่าสนใจว่าเหตุการณ์แบบนี้กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก จากการที่จีนไปลงทุน (หรือสร้างให้ก่อนแล้วให้รัฐบาลจ่ายคืน แลกกับสิทธิ์บางอย่าง) ถ้ารัฐบาลไม่สามารถจ่ายคืนเงินได้ตามกำหนด ก็อาจจต้องเสียสิทธิ์บางอย่างไปอย่างถาวร

มัสยิดที่เพิ่งสร้างใหม่ ได้รับการสนับสนุนเงินจากเจ้าชายในประเทศซาอุดิอารเบียร์

พนักงานคนเดียวกันนี้ยังเล่าว่ามัสยิดล่าสุดของมาเล่ (อันสีน้ำเงิน) เพิ่งสร้างเสร็จใหม่ๆ โดยได้รับเงินสนับสนุนจากเจ้าชายจากประเทศซาอุดิอารเบียร์ (สร้างโดยตุรกี) รวมถึงได้พูดคุยกันเรื่อง supply พวกของกินของใช้ต่างๆ ก็ได้รู้ว่าผลไม้ต่างๆที่วางขายอยู่นั้น เป็นของนำเข้าแทบทั้งหมด (รวมถึงกล้วย) ส่วนใหญ่นำเข้ามาจากประเทศอินเดียที่อยู่ใกล้ที่สุดแล้ว ตัวประเทศมัลดีฟส์เองพึ่งพารายได้การท่องเที่ยวเป็นหลักเลย ซึ่งในขณะนี้สนามบินก็กำลังก่อสร้างขยายอาคารเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวมากขึ้น (และแน่นอนว่าก่อสร้างโดยจีนเช่นกัน)

สระว่ายน้ำ ที่อยู่ในทะเลอีกที
ข้อกำหนดเรื่องการแต่งตัวบนเกาะ hulhumale
หน้าตาแอพเรียกรถ AVIS Ride

จบแล้ว … สวัสดี

ปล. นี่ไปเที่ยวหรือไปทัศนศึกษา

ปล. 2 ที่ seaplane terminal โดนหลอกขายโค้กกระป๋องในราคา 5$ โกรธมาก 😣

Scroll to top